"โฮย่า" (Hoya) เป็นไม้ดอกที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ
แต่เดิมแล้ว คนไทยรู้จักโฮย่ากันจากเพียงจำนวนไม่กี่ชนิด
ทั้งที่ความจริงแล้ว โฮย่าเป็นไม้ดอกที่มีความสวยงามหลากหลาย
นอกจากนี้ โฮย่ายังสามารถปลูกเลี้ยงได้ง่ายในทุกสภาพพื้นที่
แม้ในพื้นที่ ที่มีปริมาณแสงแดดจัด หรือแสงน้อยมากก็สามารถ
ปลูกเลี้ยงโฮย่าได้ และปัจจุบันการจัดสวนแนวตั้งกำลังมีบทบาท
อย่างมากในการตกแต่งอาคารสถานที่ ซึ่งมีพื้นที่น้อย แสงแดดน้อย
แต่ต้องการพื้นที่สีเขียวมากขึ้น โฮย่าจึงเป็นพันธุ์ไม้ที่ตอบสนอง
ความต้องการต่างๆเหล่านี้ได้อย่างลงตัว
โฮย่า เป็นพืชในวงศ์ Asclepiadaceae
โฮย่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่แถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่
เขตการกระจายพันธุ์ของโฮย่า พบตั้งแต่ทิศเหนือใน
บางพื้นที่ของประเทศไต้หวัน ไปจนถึงทิศใต้ที่ออสเตรเลีย
ทางทิศตะวันตกพบโฮย่าในบางพื้นที่ของปากีสถาน ไปจนถึง
ทิศตะวันออกของนิวกิเนีย ลักษณะเฉพาะของต้นโฮย่า
ที่สังเกตได้โดยง่ายก็คือ เป็นพืชเถาเลื้อยที่มีใบอวบน้ำ
เมื่อเด็ดใบออก ใบของโฮย่าจะไม่เหี่ยวเฉาโดยง่าย
ซึ่งมีความคล้ายกับใบของพืชในวงศ์กล้วยไม้ เมื่อเกิด
บาดแผลที่ส่วนใดๆของต้นโฮย่า จะพบน้ำยางสีขาวขุ่น
ปริมาณมากไหลออกมา ลักษณะเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือ
ดอกโฮย่า ที่มีความสวยงามโดดเด่นไม่มีใครเหมือน
ดอกโฮย่า
เป็นดอกแบบช่อร่ม โฮย่าบางชนิดอาจมีจำนวนดอกได้หลายร้อยดอก
ในช่อดอกเพียงช่อเดียว โฮย่ามีดอกที่หลากหลายทั้งรูปร่าง สีสัน
ขนาดของดอก และกลิ่นที่แตกต่างกัน โฮย่าบางชนิดมีช่อดอก
ขนาดใหญ่มาก โดยใหญ่กว่าฝ่ามือที่กางออกของคนเสียอีก
ดอกของต้นโฮย่า ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนหลักๆคือ
กลีบเลี้ยง (calyx) เป็นส่วนที่อยู่ใต้สุดของดอก ทำหน้าที่
เป็นส่วนห่อหุ้มดอกเมื่อดอกยังไม่พัฒนาเต็มที่ โฮย่าบางชนิด
จำแนกได้ง่ายโดยการสังเกตที่กลีบเลี้ยงนี้เอง
กลีบดอก (corolla) เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของดอก ที่แสดงเอกลักษณ์
ที่สังเกตุได้ง่าย ในการจดจำ หรือจำแนกเบื้องต้น ในกรณีของแมลง
กลีบดอกมีความสำคัญมากในแง่ของสีสัน และกลิ่นที่ใช้ในการดึงดูด
โคโรน่า (corona) อยู่บริเวณกลางสุดของดอก เป็นส่วนที่สวยงาม
และสำคัญที่สุดในแง่ของการสืบพันธุ์ของโฮย่า เพราะเป็นแหล่งรวม
อวัยวะสืบพันธุ์เกสรเพศผู้และเพศเมีย นอกจากนั้นยังเกี่ยวพันกับ
วิวัฒนาการร่วมกับกลีบดอก ที่จะทำให้เกิดความจำเพาะ
ของแมลงบางชนิด ที่ทำหน้าที่ผสมเกสรให้กับโฮย่านั่นเอง
ความนิยมปลูกเลี้ยงโฮย่า
เมืองไทยเป็นแหล่งพันธุกรรมของโฮย่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
ที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญในการปลูกเลี้ยงโฮย่ามากนัก
โดยนิยมปลูกเลี้ยงจริงจังในเฉพาะกลุ่ม และมีการผลิตเป็นปริมาณมาก
เพื่อการค้าเพียงไม่กี่ชนิด เช่น Hoya carnosa ใช้เป็นไม้แขวนประดับ
ในขณะที่หลายประเทศในแถบอเมริกาและยุโรป ผู้คนนิยมปลูกเลี้ยง
โฮย่ากันอย่างจริงจัง มีการสะสมรวบรวมชนิดพันธุ์จากทั่วโลก
และมีการตั้งกลุ่มชมรม และสมาคมกันอย่างแพร่หลาย มีการศึกษา
เพื่อจำแนกชนิดพันธุ์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง และมีนักวิทยาศาสตร์บางคน
กำลังศึกษาสารสำคัญในน้ำยางโฮย่าอย่างจริงจัง เพื่อใช้ประโยชน์
ในทางการแพทย์ และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
สาเหตที่โฮย่าได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติไม่แพ้พืชในวงศ์กล้วยไม้
ก็เพราะว่า โฮย่ามีความสวยงามหลากหลาย และมีคุณสมบัติเฉพาะตัว
หลายอย่างเช่น
1. โฮย่าปลูกเลี้ยงได้ง่ายในทุกสภาพพื้นที่
ในสภาพธรรมชาติเราสามารถพบโฮย่าบางชนิดในป่าผลัดใบ
ที่มีสภาพแห้งแล้ง และมีแสงแดดจัดมาก เช่นโฮย่าใบหัวใจ
(Hoya kerii) และ Hoya parasitica ในขณะที่ป่าดิบที่แสงส่องไม่ถึง
เราก็สามารถพบโฮย่า บางชนิดได้ด้วยเช่นกัน ที่พบบ่อยๆได้แก่
Hoya finlaysonii และ Hoya erythrostemma ดังนั้นจึงไม่แปลกที่
ต่างประเทศ ซึ่งทุกๆปีจะมีหิมะตกหนัก ติดต่อกันนานหลายเดือน
ก็สามารถปลูกเลี้ยงโฮย่าได้ในบ้านเรือน แม้จะมีสภาพแสงน้อยก็ตาม
2. โฮย่าขยายพันธุ์ง่ายและโตเร็ว ปรับตัวเก่งในสภาพที่หลากหลาย
บางชนิดโตเร็วมาก สามารถตัดกิ่งชำได้ง่าย เนื่องจากใบโฮย่าจะมี
คุณสมบัติคล้ายใบกล้วยไม้ คือจะไม่เหี่ยวง่ายแม้จะตัดชำ
เป็นกิ่งเล็กกิ่งน้อยก็ตาม
3. โฮย่ามีความหลากหลายปานกลาง แม้จะไม่เทียบเท่ากับจำนวน
สมาชิกของพืชในวงศ์กล้วยไม้และสับปะรด แต่ก็มีจำนวนไม่ต่ำกว่า
300 ชนิด จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้สะสมโฮย่าคนหนึ่ง จะสามารถ
รวมรวมมาปลูกเลี้ยงได้ครบเกือบทุกชนิด (โฮย่าบางชนิด
ต้องการพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงสูง จึงอาจปลูกเลี้ยงได้ยากกว่าปกติ)
ด้วยปริมาณจำนวนสมาชิกที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไปนี้เอง
จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของต้นโฮย่า ที่ทำให้ดูน่าสะสม มีเป้าหมายที่
จับต้องได้ และมีดอกหมุนเวียนให้ได้เชยชม สลับกันไปในแต่ละชนิด
ตลอดทั้งปี โดยไม่รู้สึกเบื่อเวลาปลูกเลี้ยง (ต้นไม้จากป่าส่วนมาก
จะออกดอกปีละครั้ง หากจำนวนสมาชิกในกลุ่มน้อยชนิด
ก็อาจจะทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงเบื่อได้ เพราะไม่ได้ชมดอกไม้ต่อเนื่อง)
4. โฮย่าเป็นพืชที่ผลิตลูกผสมได้ยากมาก เนื่องจากโครงสร้าง
ของดอก มีความเล็กและมีเหลี่ยมมุมที่ไม่เอื้อต่อการผสมเทียม
โดยนักปรับปรุงพันธุ์ ทำให้ไม่ค่อยมีลูกผสมในตลาดของโฮย่ามากนัก
และลูกผสมที่ได้เกือบทั้งหมด ได้มาจากความบังเอิญของผู้ปลูกเลี้ยง
ทำให้ความหลากหลายของต้นโฮย่าเกือบทั้งหมด เป็นความแตกต่าง
ตั้งแต่ดั้งเดิมจากธรรมชาติ (Natural clone) จึงเป็นเสน่ห์ที่สำคัญ
ในการสะสมความแตกต่างหลากหลายของชนิดโฮย่า หรือแต่ละ
โคลนที่มีความผันแปรทางพันธุกรรมแตกต่างกันไป ทั้งทางด้านสีสัน
รูปทรง ลวดลาย ขนาด และกลิ่น ของดอกและใบ
ในทางกลับกันแล้ว โฮย่าสำหรับนักปรับปรุงพันธุ์พืช จึงเป็นสิ่ง
ที่ท้าทายความสามารถ ในการที่จะคิดหาวิธีการผสมเกสร
เพื่อให้ได้ลูกผสมที่มีความแปลกใหม่ ให้ได้ดอกโฮย่าที่มีคุณสมบัติ
ดีเลิศมากยิ่งขึ้น
โฮย่าในประเทศไทย
ในประเทศไทย มีรายงานการค้นพบโฮย่าแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ชนิด
จากจำนวนโฮย่าไม่ต่ำกว่า 300 ชนิดที่มีการค้นพบแล้วทั่วโลก
และคาดการณ์กันว่า ในประเทศไทยน่าจะมีโฮย่าชนิดต่างๆ
ที่รอการค้นพบอีกจำนวนมาก รวมถึงโฮย่าชนิดใหม่ๆ
ที่ยังไม่เคยมีใครพบเจอมาก่อนด้วยเช่นเดียวกัน