วรากรสมุนไพร | เมืองนครราชสีมา นครราชสีมา
มะทราง (มะซาง) น้ำปานะ ในพระไตรปิฎก
ในพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ 5 หน้า 131 กล่าวเอาไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอัฏฐบาน คือ 1.น้ำผลมะม่วง 2.น้ำผลหว้า 3.น้ำกล้วยมีเมล็ด 4.น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด 5.น้ำผลมะซาง 6.น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น 7.น้ำเหง้าบัว 8.น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่” ส่วนในหน้าที่ 132 ปรากฏข้อความที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง”
หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมจึงให้ดื่มน้ำจากผลมะซางได้ แต่ต้องเว้นน้ำดอกมะซาง ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักมะซางกันก่อนว่า คือพืชอะไร เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้พระภิกษุดื่มน้ำดอกมะซาง
มะซาง
วงศ์พิกุล (Sapotaceae)
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Madhuca pierrei (F.N.Williams) H.J.Lam
ลักษณะ
มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชา ลาวและไทย ในประเทศไทยพบในป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 10-25 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลดำแตกเป็นสะเก็ดและร่องลึก มียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับกันดูเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ โคนใบสอบและมักหยักเว้าเข้า ปลายใบป้าน หรือหยักเป็นติ่งเล็กน้อย แผ่นใบหนา ดอกออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งเหนือกลุ่มใบ ดอกย่อยสีขาวมีกลิ่นหอม ผลเป็นผลกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 3 เซนติเมตร ปลายผลมีหลอดเกสรตัวเมียติดอยู่ เมื่อสุกมีรสหวาน รับประทานได้ ดอกมะซางมีกลิ่นหอมเย็น เป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก่นมะซางมีรสหวานเย็น แก้คุดทะราด แก้เสมหะ ส่วนรากมีรสหวานเย็นเช่นกัน ช่วยแก้โลหิตและกำเดา ในหมู่หมอพื้นบ้านทั้งกัมพูชา ลาวและไทยมีการใช้ดอกมะซางเป็นยา
หมายความว่าสามารถใช้ประโยชน์จากดอกมะซางชนิดนี้ได้ แต่ทำไมในพระไตรปิฎกจึงห้ามไม่ให้ใช้
เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปจะเห็นว่า มะซางชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในไทย ลาวและกัมพูชา ดังนั้น อาจจะไม่ใช่พันธุ์ไม้ชนิดเดียวกันกับมะซางที่ปรากฏในพระไตรปิฏก จึงต้องย้อนกลับไปดูในฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว ก็พบว่าพืชในสกุลเดียวกับมะซางในบ้านเราทั่วทั้งโลกมีการจัดจำแนกจนเป็นที่ยอมรับของนักพฤกษศาสตร์แล้วจำนวน 117 ชนิด
ในจำนวนนี้ พบว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดียเพียง 5 ชนิด คือ
1) Madhuca balakrishnanii E.S.S.Kumar, Shailaj. & Shareef Madhuca bourdillonii (Gamble) H.J.Lam
2) Madhuca diplostemon (C.B.Clarke) P.Royen
3) Madhuca insignis (Radlk.) H.J.Lam
ทั้ง 3 ชนิดนี้ไม่มีรายงานการใช้ประโยชน์มากนัก
4) Madhuca neriifolia (Moon) H.J.Lam ดอกและผลกินได้ ผลใช้รักษาโรคไขข้อ ขับน้ำดี แก้หืดและขับพยาธิ น้ำมันจากเมล็ดใช้รักษาโรคไขข้อ ดอกเอามาแช่น้ำดื่มรักษาอาการไตผิดปกติ
5) Madhuca longifolia (L.) J.F.Macbr. ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ใน บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ในที่นี้ขอเรียกว่า “มะซางอินเดีย” เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 20 เมตร และเป็นชนิดที่มีรายงานการใช้ประโยชน์มากมาย เช่น ดอกหอมและหวานมากใช้แทนน้ำตาลได้ ดอกมะซางอินเดียนี้กินได้และเป็นอาหารของชาวเขาบางชนเผ่า ส่วนใหญ่ใช้ทำน้ำเชื่อมเพื่อเป็นยา และดอกซึ่งมีความหวานมากจึงนิยมมาใช้ในการผลิตสุราพื้นบ้าน ซึ่งเป็นสุราที่มีชื่อเสียงมากด้วย
หลายชนเผ่าทางตอนเหนือของอินเดียถือว่าต้นมะซางอินเดียและการผลิตเหล้าจากดอกมะซางชนิดนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม สุราพื้นบ้านที่ผลิตจากดอกมะซางอินเดียใช้เป็นเครื่องดื่มเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆ ด้วย
ผลของมะซางอินเดียยังเป็นอาหารที่สำคัญของชนเผ่าทางตะวันตกของรัฐโอริสสา และต้นมะซางอินเดียมีความสำคัญทางวัฒนธรรม
โดยชาวโอริสสาตะวันตกถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีการอธิษฐานขอพรกับต้นไม้นี้ในช่วงเทศกาลต่างๆ และยังมีอาหารหลากหลายชนิดที่ปรุงด้วยผลและดอกจากมะซางอินเดีย หากกล่าวเฉพาะสุราที่ผลิตจากดอกมะซางอินเดีย จะเป็นสุราไม่มีสีแต่ขุ่น และเป็นสุราที่ไม่แรงมาก ราคาก็ไม่แพง
การผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตในครัวเรือน การปรุงดอกมะซางอินเดียเป็นสุราพื้นบ้านนั้นได้ถูกกล่าวไว้ในวรรณกรรมฮินดู เซน และพุทธ
นอกจากนี้ ยังพบในตำราอายุรเวทด้วย ตัวอย่างวรรณกรรมที่กล่าวถึงสุราที่ผลิตได้จากดอกมะซางอินเดีย เช่น
“พระแม่กาลีผู้ประทับนั่งบนดอกบัวแดงที่บานสะพรั่ง พระพักตร์งาม ผ่องใส ทอดพระเนตรพระมหากาฬซึ่งเมาสุรารสเลิศจากดอกมะซาง กำลังร่ายรำอยู่เบื้องหน้า…” มหาปรินิพพานตันตระ
มะซางยังจัดว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียตอนใต้ด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่วัดต่างๆ มีการปลูกมะซางชนิดนี้กันเกือบทุกวัด
ดอกมะซางอินเดียมีฤทธิ์เย็น คนอินเดียใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ บำรุงกำลัง เป็นยาระบายและยาชูกำลัง ใช้ในการรักษาอาการไอ หวัด หลอดลมอักเสบ รักษาแผลงูกัด น้ำคั้นจากดอกใส่ในเนยใสกินเป็นยาแก้ริดสีดวง ดอกแห้งใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคอัณฑะอักเสบ มีฤทธิ์เป็นยากล่อมประสาท เปลือกต้นมีรสฝาดและทำให้ผิวนิ่มนวล ใช้ในการรักษาโรคเรื้อน มีการใช้เปลือกต้นต้มให้ผู้ป่วยเบาหวาน
ในเนปาล เปลือกใช้เป็นยาทาภายนอกเพื่อรักษาผิวหนัง ผด ผื่นคัน และเลือดออกตามไรฟัน
น้ำมันจากเมล็ดมะซางอินเดียมีคุณสมบัติทำให้ผิวนวล บำรุงผม และใช้ในโรคผิวหนัง โรคไขข้อ และปวดศีรษะ นอกจากนี้ ยังเป็นยาระบาย เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ ริดสีดวงทวาร และใช้เป็นยาแก้อาเจียน ชนเผ่าพื้นเมืองยังใช้น้ำมันเป็นไฟส่องสว่าง
มะซางที่ปรากฏในพระไตรปิฎก น่าจะเป็นมะซางอินเดีย ชนิด Madhuca longifolia (L.) J.F.Macbr. เพราะมีการนำดอกมาผลิตสุราพื้นบ้านทั่วไป และยังมีรายงานที่กล่าวว่ากินมากจะเป็นพิษต่อร่างกายด้วย
การศึกษาค้นคว้านี้ พอจะได้คำตอบว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้นำดอกมะซางมาทำน้ำปานะดื่มนั่นเอง
ราคาต้นละ 400.00 บาท ติดต่อ ปุณณภา งานสำเร็จ โทร. 0616499298 ไอดีไลน์ herbsddd
ร้านนี้ยังไม่มีการแจ้งเลขทะเบียนพานิชย์ เปิดร้านมาแล้ว 14 ปี 3 เดือน