ลักษณะพฤกษศาสตร์ของต้นผักหวานป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ การขยายพันธุ์ การดูแล ความเชื่อ สรรพคุณทางสมุนไพร ประโยชน์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melientha suavis Pierre
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ เปลือกต้นเรียบ กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลอ่อน ผิวขรุขระ กิ่งก้านเปราะ หักง่าย
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนรูปร่างแคบรี ปลายใบแหลม สีเขียวอมเหลือง ใบแก่เต็มที่รูปร่างรีกว้าง ถึงรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ใบสีเขียวเข้ม เนื้อใบกรอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบมน ก้านใบสั้น
ดอก : ออกเป็นช่อยาวตามกิ่งแก่หรือตามลำต้นที่ใบร่วงแล้ว ใบประดับดอกเป็นรูปไข่ปลายแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะมีกลีบสีเขียวอ่อน ส่วนดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีเขียวเข้ม และก้านดอกจะสั้นกว่าดอกเพศผู้
ผล : เป็นผลเดี่ยวติดกันเป็นพวง ผลเป็นรูปไข่ ผลอ่อนสีเขียวมีนวลเคลือบ และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงเหลืองอมส้มเมื่อผลสุก
การขยายพันธุ์ของต้นผักหวานป่า
เพาะเมล็ด เพาะชำราก และตอนกิ่ง
การดูแลต้นผักหวานป่า
ปลูกได้ในดินร่วนปนทราย ชอบแดดรำไร
สรรพคุณทางสมุนไพรของต้นผักหวานป่า
- ใบ แก้อาการปวดหัว ปวดท้อง ปวดในข้อ รักษาแผล
- ราก แก้อาการปวดหัว แก้ไข้ แก้อาการร้อนใน แก้ปวดท้อง แก้อาการปวดมดลูก แก้น้ำดีพิการ รักษาแผล แก้อาการปวดในข้อ
- ยอด ลดไข้ แก้อาการร้อนใน
- ยาง แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว
- แก่น แก้อาการปวดตามข้อ
- ลำต้น เพิ่มน้ำนมแม่หลังการคลอดบุตร
ความเชื่อของต้นผักหวานป่า
ชาวกะเหรี่ยงไม่นิยมปลูกในบ้านเพราะเชื่อว่าทำให้คนในบ้านป่วย
ประโยชน์ของต้นผักหวานป่า
- ยอดและใบอ่อน มาปรุงอาหารได้หลากหลายทั้งต้ม ผัด แกง
- ผลสุก นำมารับประทานเป็นผลไม้ และเป็นอาหารของนกและสัตว์ต่างๆ
- นำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำผักหวานป่า ไวน์ คุกกี้ ขนมถ้วย ข้าวเกรียบ ทองม้วน เป็นต้น
- มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ช่วยในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
- มีเบตาแคโรทีนสูง ช่วยในการบำรุงสายตา
- มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศ ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังจากรังสีแสงแดด ช่วยทำให้ผิวหนังไม่เหี่ยวย่นหรือแก่ก่อนวัย
- มีวิตามินบี 2 ที่ช่วยป้องกันโรคปากเปื่อยหรือโรคปากนกกระจอก
- มีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยในการขับถ่ายและเป็นยาระบายอ่อน ๆ