ลักษณะพฤกษศาสตร์ของแววมยุรา (3652)
ชื่อวงศ์: Scrophulariaceae
ชื่อสามัญ: Wishbone flower, Bluewings, Torenia
ชื่อพื้นเมือง: เกล็ดหอย แววมยุเรศ สามสี หญ้าลิ้นเงือก หญ้าลำโพง
ลักษณะทั่วไป:
ต้น ไม้ดอกล้มลุก ลำต้นและกิ่งเป็นเหลี่ยม แตกกิ่งก้านมาก
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปไข่ถึงรูปรีแคบ กว้าง 1.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบาง สีเขียว เส้นใบเป็นร่อง
ดอก สีแดง ชมพู ม่วงเข้ม ม่วงอ่อน โคนกลีบสีขาวกลีบล่างอาจมีแต้มสีเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะตามซอกใบที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร
ฝัก/ผล ผลแห้งแตก รูปรีหรือทรงกระบอก มีเมล็ดจำนวนมาก
ฤดูกาลออกดอก: ตลอดปี
การปลูก: ปลูกคลุมดินในสวน
การดูแลรักษา: ต้องการแดดปานกลาง แต่ไม่ชอบแสงแดดโดยตรง ต้องการน้ำมาก ความชื้นสูง จึงควรรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ ถ้าอากาศร้อนหรือแห้งแล้งมาก ก็ให้ฉีดพ่นละอองน้ำให้ใบชุ่มชื้น ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายน้ำรดเดือนละครั้ง
การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด และการตัดชำ
การใช้ประโยชน์: ไม้ประดับ
ถิ่นกำเนิด: บราซิล อเมริกาใต้