ลักษณะพฤกษศาสตร์ของต้นหูกวาง ชื่อวิทยาศาสตร์ การขยายพันธุ์ การดูแล ข้อเสีย สรรพคุณทางสมุนไพร ประโยชน์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia catappa L.
ชื่อภาษาอังกฤษ : Bengal Almond, Indian Almond, Olive-bark Tree, Sea Almond, Singapore Almond, Tropical Almond
ชื่ออื่นๆ : โคน, ดัดมือ, ตัดมือ
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ทรงพุ่มค่อนข้างกลมหรือรูปพีระมิดหนาทึบ เปลือกต้นสีเทา แตกเป็นร่องตื้น แตกกิ่งในแนวระนาบเป็นชั้น เมื่อโตเต็มที่ปลายกิ่งลู่ลง
ใบ : เป็นใบเดี่ยว รูปไข่กลับ ปลายใบเป็นติ่งแหลมโคนใบสอบแคบเว้า ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบ เมื่อยังอ่อนมีสีเขียวเข้มหนา ด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่า และมีขนนุ่มปกคลุม ใบแก่ใกล้หลุดร่วงเป็นสีส้มแดง
ดอก : ออกเป็นช่อดอกทรงกระบอกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเล็กสีขาวนวล
ผล : รูปไข่หรือรูปรีป้อมแบนเล็กน้อย มีสันนูนสองด้าน ผิวอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีเขียวคล้ำ ผิวผลเรียบ มีกลิ่นหอม และเมื่อผลแห้งจะเป็นสีดำคล้ำ เปลือกผลมีเส้นใยมาก
เมล็ด : มีขนาดใหญ่รูปไข่ หรือ รูปรี แบนป้อมเล็กน้อย คล้ายอัลมอนด์ เมื่อเมล็ดแห้งจะเป็นสีน้ำตาล เปลือกแข็งภายในมีเนื้อสีขาวจำนวนมาก
การขยายพันธุ์ของต้นหูกวาง
โดยการเพาะเมล็ด
การดูแลต้นหูกวาง
ปลูกได้ในดินทุกประเภท ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแดดตลอดวัน ทนดินเค็ม เจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง ทนทาน
ข้อเสียของต้นหูกวาง
มีผลแข็ง เมื่อร่วงหล่นอาจทำความเสียหายได้ และมีระบบรากที่ใหญ่และแผ่กว้างอาจทำความเสียหายกับสิ่งก่อสร้าง
สรรพคุณทางสมุนไพรของต้นหูกวาง
- ต้น เป็นยาแก้ไข้ แก้ท้องร่วง แก้บิด เป็นยาระบาย แก้โรคคุดทะราด ช่วยขับน้ำนมของสตรี
- ใบ เป็นยาขับยเหงื่อ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นยาถ่ายพยาธิ รักษาโรคทางเดินอาหารและตับ รักษาโรคไขข้ออักเสบ
- เปลือก เป็นยาขับลม แก้ท้องเสีย ยาแก้ตกขาวของสตรี รักษาโรคโกนีเรีย
- ผล เป็นยาถ่าย
- เมล็ด แก้ขัดเบา แก้นิ่ว
- ราก ช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาตามปกติ
- น้ำมันจากเมล็ด เป็นยารักษาโรคเรื้อน
ประโยชน์ของต้นหูกวาง
- นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ
- เมล็ดหูกวางสามารถนำมารับประทานได้ โดยนำเนื้อในเมล็ดมารับประทานทั้งแบบสดๆ และใช้เผาไฟรับประทาน
- น้ำมันในเมล็ด นำไปใช้บริโภค หรือ ทำเครื่องสำอาง
- เนื้อไม้ สามารถนำมาแปรรูปเป็นไม้แผ่นสำหรับก่อสร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน หรือ เฟอร์นิเจอร์
- ใบ สามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้า ซึ่งจะให้สีเขียวในใบอ่อน และสีเหลืองในใบแก่
- ราก และผลดิบ ก็ใช้ในการฟอกย้อมหนังใช้ในการผลิตหมึกสีดำ