ลักษณะพฤกษศาสตร์ของต้นชะอม ชื่อวิทยาศาสตร์ การขยายพันธุ์ สรรพคุณทางสมุนไพร ประโยชน์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia pennata ( L.) Willd. subsp. insuavis (Lace) I.C. Nielsen
ชื่อภาษาอังกฤษ : Climbing Wattle
ชื่ออื่นๆ : ผักหละ, ผักหา
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้น ทรงพุ่มโปร่ง ลำต้นสีขาวมีหนามกระจายอยู่ทั่วไป กิ่งชะอมจะเลื้อยตามลำต้น เปลือกลำต้น และกิ่งค่อนข้างบาง เปลือกผิวเรียบ ไม่แตกสะเก็ด ผิวเปลือกมีสีเทาอมเขียว
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น หูใบรูปหอก ปลายมีติ่งหนาม ก้านใบยาว แผ่นใบรูปไข่ ขอบขนานยาวรี ปลายใบแหลม โคนใบโค้ง ผิวใบเรียบ ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม
ดอก : ออกเป็นช่อกระจุก ทรงกลม ดอกสีขาวหรือสีขาวนวล แทงออกเหนือซอกใบบริเวณปลายยอด
ผล : เป็นฝักแบน ยาว รูปขอบขนาน มีขนาดเล็กกว่าฝักกระถิน
เมล็ด : แบน เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลเข้ม
การขยายพันธุ์ของต้นชะอม
โดยการเพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง
สรรพคุณทางสมุนไพรของต้นชะอม
- เปลือก เป็นยาขับพยาธิ ยาขับลม ใช้เปลือกแทนสบู่ ใช้เป็นสีย้อมแหจับปลา หรือย้อมหนังจะให้สีน้ำตาลอมแดง
- ราก ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลมในลำไส้ในท้อง
- ใบ ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก ช่วยบำรุงเส้นเอ็น แก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสีย แตกปลาย
- ยอดอ่อน รับประทานเป็นผัก ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
ประโยชน์ของต้นชะอม
- ยอดอ่อนและใบอ่อน ใช้ประกอบอาหาร หรือรับประทานสด หรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก
- ยอดอ่อนหรือใบแก่ ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสุกร
- ปลูกชะอมรอบแปลงผักจะช่วยไล่ และป้องกันแมลงศัตรูเข้าทำลายพืชผัก