ลักษณะพฤกษศาสตร์ของกล้วยไม้ (3483)
ชื่อวงศ์: ORCHIDACEAE
ชื่อสามัญ: Orchid
ชื่อพื้นเมือง: เอื้อง (ภาคเหนือ)
ลักษณะทั่วไป:
ต้น ลำต้นของกล้วยไม้ไม่มีแก่นและเปลือก เนื้อในเสมอกัน ลำต้นมี 2 ลักษณะ คือ ลำต้นแท้ มีข้อและปล้องเหมือนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไป มีการเจริญเติบโตทางยอด ลำต้นเทียมหรือลำลูกกล้วยไว้สะสมอาหาร มีลำต้นเป็นเหง้า มีข้อและปล้องถี่ เจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก รากกลมอวบเป็นเส้นเล็กแข็งหรือแบนราบ มีทั้งรากดิน รากกึ่งดิน รากกึ่งอากาศ และรากอากาศ
ใบ เป็นใบเลี้ยงเดี่ยวมีลักษณะต่างกันออกไป เช่น รูปแถบ รูปกลมยาว หรือลดรูปเป็นเพียงเกล็ด แผ่นใบบางคล้ายใบหมาก หนาอวบน้ำ หรือเป็นแท่งกลม ส่วนมากแล้วไม่มีส่วนที่เป็นก้านใบชัดเจน สีของใบเป็นสีเขียวสด บางชนิดเป็นสีม่วงคล้ำ บางชนิดก็มีลวดลาย
ดอก ออกที่ปลายลำต้น ซอกใบหรือข้างลำต้น ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบเรียงสลับกันกับกลีบดอก 3 กลีบ กลีบดอกอันล่างมีลักษณะต่างออกไปเรียกว่ากลีบปากหรือกลีบกระเป๋าไว้สำหรับ ล่อแมลง ก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียเชื่อมติดกันกับเกสรตัวผู้เป็นเส้า เกสรอยู่กลางดอก เกสรตัวผู้อยู่รวมกันเป็นก้อนเป็นกลุ่มเรณู แต่ละอับเรณูมีฝาปิด มี 2, 4 หรือ 8 ก้อนแล้วแต่ชนิดกล้วยไม้ ยอดเกสรตัวเมียอยู่ใต้อับเรณู มีลักษณะเป็นเมือกเหนียว รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก เมื่อได้รับการผสมจะเจริญไปเป็นเมล็ดต่อไป
ฝัก/ผล ฝัก กล้วยไม้ ภายในฝักมีเมล็ด กล้วยไม้มีอายุตั้งแต่ผสมเกสรไปจนถึงฝักแก่จะแตกต่างกันไปตามชนิดของกล้วย ไม้ร่วมกับสภาพสิ่งแวดล้อมและความสมบูรณ์ขององค์ประกอบในการเจริญงอกงามด้วย กล้วยไม้บางชนิดอาจจะฝักแก่ได้ในระยะเวลาเพียงเดือนกว่าเท่านั้น แต่มีกล้วยไม้บางชนิดซึ่งมีฝักอยู่กับต้นถึงปีครึ่งถึงจะแก่ ฝักกล้วยไม้ในประเภทไม่แตกกอ มักจะติดอยู่กับก้านในลักษณะตั้งเอาปลายชี้ขึ้น แต่ฝักกล้วยไม้ประเภท แตกกอมักจะห้อยปลายลงเป็นส่วนมาก เช่น ฝักของกล้วยไม้สกุลหวาย เป็นต้น แต่ละฝักมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ 1,600 – 4,000,000 เมล็ด
เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเรียวยาวหรือป่องกลางคล้ายลูกรักบี้ เมล็ดมีขนาดเล็กมาก มีแต่คัพภะ แต่ไม่มีอาหารสะสมมีเปลือกบางๆ หุ้มเมล็ดอยู่ มีน้ำหนักเมล็ดประมาณ 0.003 – 0.0014 มิลลิกรัม มีสีแตกต่างกันไป เช่น น้ำตาล เทา เหลือง หรือขาว และด้วยเหตุที่เมล็ดกล้วยไม้มีขนาดเล็กมาก จึงอาจปลิวกระจายไปตามลมได้ง่ายและเป็นระยะทางไกล ๆ
ฤดูกาลออกดอก: ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
การขยายพันธุ์: แยกลำ, แยกหน่อ, ชำต้นและยอด, เลี้ยงเนื้อเยื่อ
ส่วนที่มีกลิ่นหอม: ดอก ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
การใช้ประโยชน์: ไม้ประดับสถานที่ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ โดยเฉพาะกล้วยไม้ตระกูลหวาย
ถิ่นกำเนิด: ลาตินอเมริกา, เอเซียแปซิฟิค