การบริโภคกล้วยน้ำว้าในแบบต่างๆ จะให้สรรพคุณประโยชน์แตกต่างกัน
- กล้วยน้ำว้าห่าม หรือกล้วยกึ่งดิบกึ่งสุก สามารถรับประทานสดได้ รสชาติไม่หวานจัด ช่วยแก้ท้องเสีย เนื่องจากมีปริมาณโพแทสเซียมสูง หากผู้ที่มีอาการท้องเสียรับประทานกล้วยห่าม สามารถช่วยชดเชยโพแทสเซียมให้กับร่างกาย และทำให้อาการท้องเสียบรรเทาลง
- กล้วยน้ำว้าสุก มีรสชาติอร่อย ผู้บริโภคนิยมรับประทาน ช่วยแก้ท้องผูก เนื่องจากมีสารเพคติน (Pectin) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ช่วยเพิ่มกากใยในระบบทางเดินอาหาร และยังมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) ตามธรรมชาติ สามารถช่วยในการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี
- กล้วยน้ำว้างอม กล้วยมีสีเหลืองเข้มคล้ำๆ เนื้อกล้วยค่อนข้างเละ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมนำมารับประทาน แต่ในทางกลับกันกล้วยงอมกลับมีประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ต้านโรคมะเร็ง ทำให้มีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกล้วยที่มีจุดดำมากๆ ก็จะยิ่งมีสารเสริมภูมิต้านทานมากด้วย
- กล้วยน้ำว้าดิบ ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหารได้ดี เนื่องจากมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีฤทธิ์ในการเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ ป้องกันการติดเชื้อ กล้วยดิบไม่สามารถรับประทานสดได้ วิธีรับประทานให้นำกล้วยมาฝานเป็นแว่นๆ แล้วอบด้วยความร้อนต่ำไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส จนแห้ง จากนั้นนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา 3 ครั้ง ก่อนอาหาร