ลักษณะพฤกษศาสตร์ของต้นมะหาด ชื่อวิทยาศาสตร์ การขยายพันธุ์ การดูแล สรรพคุณทางสมุนไพร ประโยชน์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus lacucha Roxb. ex Buch.-Ham.
ชื่อภาษาอังกฤษ : Monkey Jack, lakoocha, Monkey Fruit
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกนอกของลำต้นมีสีเทาแกมน้ำตาล หรือน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ทั่วไป เปลือกชั้นในสีน้ำตาลแกมแดง มักมียางสีขาวหรือสีขาวแกมเหลืองซึมออกมาตามรอยแตก ตามยอดอ่อนมีขนนุ่มสีเทาถึงน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น
ใบ : เป็นใบเดี่ยว ใบรูปขอบขนานหรือรูปรี หรือรูปไข่ โคนใบมนหรือเว้ามน ปลายใบแหลม ขอบใบแก่เรียบแต่ขอบใบอ่อนหยักเป็นฟันเลื่อยเล็กๆ ท้องใบสากคายมือ
ดอก : ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้รูปขอบขนาน ช่อดอกเพศเมียรูปเกือบกลม ดอกมีสีเหลืองอ่อน
ผล : เป็นผลรวม รูปทรงกลม เปลือกนอกมีผิวขรุขระ เนื้อค่อนข้างนุ่ม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่สีเหลืองอมส้ม เนื้อผลสีชมพู รับประทานได้
เมล็ด : รูปขอบขนานฝังอยู่ในเนื้อ มีหลายเมล็ด สีน้ำตาลเทา
การขยายพันธุ์ของต้นมะหาด
เพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง
การดูแลต้นมะหาด
ปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแดดจัด
สรรพคุณทางสมุนไพรของต้นมะหาด
- เปลือกต้น แก้ไข้
- แก่น แก้จุกเสียดแน่น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ผายลม แก้ผื่นคัน แก้ตานขโมย แก้กระษัย ขับโลหิต เป็นยาระบาย ถ่ายพยาธิ
- ราก แก้ไข้ แก้กระษัยเส้นเอ็น ขับพยาธิ แก้ไข้เพื่อฝีภายใน แก้พิษร้อน
- เนื้อไม้ เป็นยาแก้จุกแน่น ขับลม ยาระระบายและถ่ายพยาธิ
ประโยชน์ของต้นมะหาด
- ผลสุก นำมารับประทานสด จะมีรสหวานอมเปรี้ยว
- ใยจากเปลือก นำมาใช้ทำเชือก
- ราก นำมาสกัดเป็นสีสำหรับย้อมผ้าให้สีเหลือง
- เนื้อไม้ นำมาใช้ทำเสา สร้างบ้าน หรือ ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ได้
- สารสกัดมะหาดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ
- ใบ เป็นอาหารสัตว์ ช่วยเพิ่มการขับน้ำนม
- ปลูกประดับให้ร่มเงา