ลักษณะของกล้วยไม้ดิน (3511)
ตระกูล: ORCHIDACEAE
ชื่อสามัญ: Ground orchid
ชื่อพื้นเมือง: เอื้องดิน ว่านจุก กระเทียมป่า
ลักษณะทั่วไป:
ต้น มีลำลูกกล้วยป้อมซึ่งมักนิยมเรียกกันว่าหัว ที่ห้วมีข้อถี่ๆ ลำหนึ่งหรือหัวหนึ่งมีใบอยู่ 2-4 ใบ กล้วยไม้ดินใบหมากมีลำต้นแบบ creeping rhizome อยู่ใต้ดินซึ่งเจริญแบบซิมโพเดียมลำลูกกล้วยเจริญจากลำต้นใต้ดินโผล่เหนือดินเป็นจุดกำเนิดใบ
ใบ ใบยาวและมีเส้นใบที่เป็นรอยพับจีบตามยาวฐานใบมีกาบใบรอบๆ ลำต้นปลายกาบใบจะเชื่อมตดกันเมื่อเล็กใบจะตั้งตรงและมีร่องเมื่อแก่ปลายใบเรียวแหลมและโค้งปลายห้อยลง
ดอก ช่อดอกเกิดด้านข้างของหัว ดอกเกิดที่ปลายช่อ ช่อดอกแบบ racemose ดอกบานจากข้างขึ้นข้างบนจำนวน 10- 30 ดอกต่อช่อ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีรูปร่างคล้ายกันและกางออกเกือบอยู่ในระนาบเดียวกันกลีบปากช่วงกลางมักคอด ช่วงปลายกว้างและปลายมักจะหยักเว้าส่วนโคนมีหูปากพับตั้งขึ้นทั้ง 2 ข้างบางชนิดไม่มีหูปาก ปลายปากผายออกกว้างแล้วแต่ชนิดบางครั้งเว้าที่ปลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด เส้าเกสรที่โคนยาวโค้งเล็กน้อย กล่มเรณูมี 2 ชุด ชุดละ 4 กลุ่มแต่ละกลุ่มรูปคล้ายกระบอก มีผู้นำมาปรับปรุงพันธุ์ทำให้มีความหลายหลายของสีและขนาดของดอกมาก
ราก เป็นแบบรากดิน (terrestrial)
ฤดูกาลออกดอก: มีดอกเกือบตลอดปี
การปลูก:
1.ใช้กาบมะพร้าวสับติดเปลือกเป็นชิ้นๆ ก่อนจะนำมาใช้ปลูก ควรแช่น้ำไว้ประมาณ 1-2 คืนเพื่อให้กาบมะพร้าวอุ้มน้ำไว้เต็มที่ก่อน แต่ไม่ควรเกิน 2 คืนไม่งั้นจะมีกลิ่นเหม็นและอาจเกิดการเน่าได้ครับ การใช้กาบมะพร้าวชิ้นเป็นเครื่องปลูกสำหรับว่านจุก
ข้อดีก็คือต้นว่านจุกจะฟื้นตัวได้ไวและเจริญเติบโตได้ดีมาก
ข้อเสียก็คือกาบมะพร้าวมักทรุดตัวเร็ว ไม่ถึง 2 ปี ก็ผุพังหมด ต้องทำการเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่เรื่อยๆ และต้องไม่นำกระถางไปวางไว้บนพื้นดินเปลือยๆ นะครับ ควรหาจานรองหรืออิฐบล็อคมารองก้นกระถางก่อน ไม่งั้นพวกปลวกจะมากินกาบมะพร้าว และอีกข้อหนึ่งคือกาบมะพร้าวมักมีแร่ธาตุซึ่งเป็นอาหารสำหรับพืชน้อย ควรให้ปุ๋ยพวกออสโมโคสเสริม
2.ใช้ดินใบก้ามปูใช้ผสมในอัตราส่วน ดินใบก้ามปู : กาบมะพร้าวสับชิ้น = 2 : 1 โดยกาบมะพร้าวสับต้องใช้วิธีเดิมคือแช่น้ำก่อน
ข้อดีของดินคือเป็นเครื่องปลูกที่อยู่ได้นาน การเติบโตหรือฟื้นตัวของกล้วยไม้ดินก็เร็วพอประมาณและมีแร่ธาตุที่พืชต้องการอยู่เพียงพอในช่วงแรกๆ
ข้อเสียประการแรก เมื่อปลูกแล้วกระถางกล้วยไม้ของเราจะมีน้ำหนักสูง เคลื่อนย้ายลำบากหน่อย
ประการที่สอง หากปล่อยนานๆไปไม่มีการพรวนเครื่องปลูกหรือเพิ่มกาบมะพร้าวจะทำให้เครื่องปลูกแน่นไปด้วยดิน และหากปลูกไปนานพอควรแล้วควรเสริมพวกปุ๋ยด้วย
การใช้ประโยชน์: ไม้ประดับ
ถิ่นกำเนิด: ตั้งแต่อินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิกบางเกาะ
แหล่งที่พบ: พบขึ้นเกือบทั่วประเทศไทยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก เป็นพวกที่มีดอกสีเหลืองหรือขาวนวล ส่วนที่พบทางภาคใต้ดอกสีม่วง