ลักษณะของจำปาดง (3543)
ชื่อวงศ์: Theaceae
ชื่อสามัญ: Needle Wood
ชื่อพื้นเมือง: มังตาน กรรโชก (ภาคตะวันออก) กาโซ้ (ยะลา นครพนม) คาย ทะโล้ สารภีป่า (ภาคเหนือ) คายโซ่ จำปาดง พระราม (เลย หนองคาย) บุนนาค (นครราชสีมา ตรัง) พังตาน พันตัน (ภาคใต้) มือแตกาต๊ะ (มลายู ปัตตานี) ตื้อซือซะ (กะเหรี่ยง)
ลักษณะทั่วไป:
ต้น ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 3.5 ม. ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีเทาปนน้ำตาลอ่อน ขรุขระและมักแตกเป็นร่องลึก เปลือกในสีน้ำตาลอมแดงมีเสี้ยนละเอียดสีขาว เสี้ยนนี้เป็นพิษต่อผิวหนัง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ
ใบ เป็นพืชใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับ ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาว 4.5-18 ซม. มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งหรือโคน ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว รูปลิ่ม หรือกลม ขอบใบเรียบ เป็นคลื่นหรือจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 0.5-3.5 ซม.
ดอก ออกดอกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบหรือออกเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้นตามปลายกิ่ง จะเห็นดอกขาวโพลนไปทั้งต้นเมื่อถึงฤดูออกดอก ก้านดอกยาว 2.5-4 ซม. กลีบเลี้ยงเกือบกลม ยาวได้ประมาณ 0.3 ซม. มีขนครุยกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนขนาดเล็ก ปลายแยกมน กลีบดอกสีขาว รูปไข่กลับ ปลายกลีบกลม มีขนาดกว้างยาวเกือบเท่ากัน ยาวได้ประมาณ 2 ซม. กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดที่โคนวงกลีบดอก อับเรณูติดไหวได้ รังไข่ติดเหนือวงกลีบ มี 5 ช่อง รังไข่กลม ยาวประมาณ 0.3 ซม. มีขนสั้นนุ่มคล้ายใยไหม ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ประมาณ 0.2 ซม.
ฝัก/ผล เป็นแคปซูลแข็ง ค่อนข้างกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2-4 ซม. แตกตามรอยประสาน
เมล็ด แบน รูปไต มีปีกที่ขอบแคบๆ
การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง
การใช้ประโยชน์:
- สมุนไพร
- ไม้ประดับ
แหล่งที่พบ: พบทุกภาค
สรรพคุณทางยา:
- ต้นและกิ่งก้านอ่อน รับประ ทานแก้คลื่นเยน และตำหยอดหูแก้ปวดหู
- เปลือกและผล รสเมาเบื่อ มีฤทธิ์รบกวนเส้นประสาทและทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคืองและคัน ชาวบ้านบางถิ่นใช้เบื่อปลา หรือบดเป็นผงแต่งกลิ่นธูปหอม
- ดอก ที่รสเมา เบื่อเช่นกัน นำไปตากแห้ง แล้วแช่น้ำ หรือชงกับน้ำร้อน ให้หญิงเพิ่งคลอดบุตรใหม่ๆ รับประทานแก้ขัดเขา ทั้งยังมีสรรพคุณแก้ลมชักและลมบ้าหมู
*อีสานใช้ดอก ทำนายปริมาณน้ำในแต่ละปี มีความเชื่อว่าถ้าดอกที่ตกลงสู่พื้นในสภาพหงายดอกขึ้นมีจำนวนมากกว่าดอกที่เอาหน้าคว่ำลง ปีนั้นน้ำจะมาก แต่ถ้าดอกคว่ำมากกว่าดอกหงายปีนั้นน้ำจะน้อย