โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของส้มโอ (3799)
โรคแคงเกอร์
สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย
อาการ จะพบได้ทั้งบนใบ กิ่งและผล ลักษณะแผลค่อนข้างกลม มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ ต่อมาแผลจะนูนและขยายใหญ่ขึ้น ถ้าอาการรุนแรงอาจจะพบยางไหลออกมาจากบริเวณแผลได้
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคไปเผาทำลาย ฉีดพ่นด้วยสารเคมีที่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 45-60กรัม/น้ำ 20 ลิตร
โรครากเน่าโคนเน่า
สาเหตุ เชื้อรา ไฟทอฟธอรา
อาการ ใบเหลือง เหี่ยวคล้ายขาดน้ำ รากที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะมีสีน้ำตาล เปื่อยยุ่ยและลามไปถึงโคนต้น
การป้องกันกำจัด พื้นที่ปลูกควรมีการจัดการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง การใช้สารเคมีควรใช้สารเมทาแลคซิล หรือ โฟเซททิล อลูมินั่ม ราดหรือทาบริเวณโคนต้นและราก หรือใช้ต้นตอที่ต้านทานโรคนี้ เช่น ส้มโอพล เป็นต้น
โรคทริสเตซ่า
สาเหตุ เชื้อไวรัสทริสเตซ่า
อาการ ใบจะมีอาการด่างเขียวเหมือนเป็นจ้ำ ใบบิดเบี้ยวมีอาการเส้นใบแตก เปลือกผลมีสีเขียวเข้มสลับเขียวอ่อน ลำต้นจะพบอาการเนื้อไม้เป็นแอ่งบุ๋มหรือหนามเล็กๆ ต้นส้มที่เป็นโรคจะทรุดโทรม ใบเหลือง ใบมีขนาดเล็กและร่วง ถ้าอาการรุนแรงมาก อาจทำให้ต้นส้มตายได้
การป้องกันกำจัด
ใช้กิ่งพันธุ์ที่แข็งแรงแรงและปลอดโรค กำจัดแมลงที่เป็นพาหะ เช่น เพลี้ยอ่อนส้ม ตัดต้นส้มเป็นโรคทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรค
แมลงศัตรูส้มโอ
เพลี้ยไฟ
การระบาดของเพลี้ยไฟ จะทำให้ใบอ่อนไม่พัฒนา ดอกร่วงหล่น ผลอ่อนบิดเบี้ยว ผลที่ถูกทำลายจะปรากฏรอยแผลสีเทาเงินขยายตัวเป็นวงจากบริเวณขั้วลงส่วนล่างของผล ช่วงระบาดรุนแรงจะเกิดในช่วงอากาศแห้งและฝนตกน้อย
การป้องกันกำจัด ใช้คาร์โบซัลแฟน อัตรา 30 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ เพอร์มีธริน อัตรา 30 มล./น้ำ 20 ลิตร
หนอนชอนใบ
ทำลายส้มโอในระยะแตกใบอ่อน ตั้งแต่แรกปลูกจนถึงก่อนให้ผลผลิต ตัวหนอนจะชอนเข้าไปกัดกินในระหว่างชั้นของผิวใบและเคลื่อนย้ายภายในใบ ทำให้เกิดโพรงใต้ผิวใบคดเคี้ยวไปมาทั้งหน้าใบและหลังใบ ใบจะบิดเบี้ยวและร่วงหล่น ระบาดมากในช่วงแตกใบอ่อน
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งใบอ่อนที่ถูกหนอนทำลายนำไปเผาไฟ กำจัดวัชพืชซึ่งเป็นที่อาศัยของแมลง การใช้สารเคมีให้ฉีดพ่นด้วย อิมิดาโคลพริค อัตรา 8-16 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร หือ ฟลูเฟนนอกซูรอน อัตรา 6 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร