ลักษณะพฤกษศาสตร์ของต้นธรณีสาร ชื่อวิทยาศาสตร์ การขยายพันธุ์ การดูแล ความเชื่อ สรรพคุณทางสมุนไพร ประโยชน์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus pulcher Wall.ex Mull.Arg
ชื่ออื่นๆ : เสนียด, มะขามป้อมดิน, ดอกใต้ใบ
ลำต้น : เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้น ลำต้นตั้งตรง แผ่กิ่งก้านที่บริเวณใกล้ปลายยอด เปลือกต้นสีน้ำตาล ลำต้นกลมเรียบ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกบริเวณปลายยอด แผ่นใบเป็นรูปขอบขนานเบี้ยว หรือ เป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบมนเบี้ยว ปลายใบสดมีติ่งแหลมขนาดเล็ก ขอบใบเรียบแผ่นใบบางสีเขียว มีก้านใบสีแดง
ดอก : เป็นดอกเดี่ยว แบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกสีแดงเข้ม ใบประดับมีขนนุ่มที่ฐาน โดยดอกตัวผู้จะออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ ส่วนดอกตัวเมียออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกห้อยลง เรียงกันอยู่หนาแน่นตามใต้ท้องใบ
ผล : เป็นรูปทรงกลม ผิวผลเกลี้ยงออกเรียงเป็นแนว ดูเป็นระเบียบอยู่ใต้ใบ เป็นสีน้ำตาลอ่อน
การขยายพันธุ์ของต้นธรณีสาร
โดยการเพาะเมล็ด และปักชำ
การดูแลต้นธรณีสาร
ปลูกได้ในดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่มีการะบายน้ำดี ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแดดครึ่งวัน เจริญเติบโตปานกลาง
สรรพคุณทางสมุนไพรของต้นธรณีสาร
- ราก เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษตานซางเด็ก เป็นยาช่วยขับลมลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ใบ เป็นยาแก้ไข้สูง ขับลมในลำไส้ ใช้พอกเหงือกแก้อาการปวดฟัน แก้โรคเหงือก แก้อาการปวดกระเพาะอาหาร แก้นิ่วในไต แก้ปวดแผลจากอาการไหม้ แก้บวมคัน แก้ปวดบวม แก้ผื่นคัน พอกฝี ดูดหนองรักษาแผล
- ต้น เป็นยาล้างตา เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาทาท้องเด็กช่วยให้ไตทำงานตามปกติ เป็นยาทาผิวหนัง แก้ผิวหนังอักเสบ แก้ฝีอักเสบ
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นธรณีสาร
คนไทยโบราณเชื่อว่าถ้าปลูกต้นธรณีสารไว้กับบ้านจะเป็นสิริมงคล ทำให้มีความสุขร่มเย็น หากว่านธรณีสารงอกงามดี จะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าเจ้าของจะได้เกียรติยศ ได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรือมีโชคลาภ และยังเชื่อด้วยว่าว่านธรณีสารสามารถแผ่อิทธิคุณ ช่วยคุ้มครองอาณาบริเวณให้รอดพ้นจากมนต์ดำต่าง ๆ ช่วยปัดเสนียดจัญไรไม่ให้เข้ามาทำอันตรายได้
ประโยชน์ของต้นธรณีสาร
นิยมนำมาใช้ประกอบทำน้ำมนต์ โดยใช้ใบว่านธรณีสารชุบกับน้ำมนต์ ใช้ประพรมเพื่อเป็นการปัดรังควานและเสนียดจัญไร