ลักษณะพฤกษศาสตร์ของต้นกระดังงาไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ การขยายพันธุ์ การดูแล ความเชื่อ สรรพคุณทางสมุนไพร ประโยชน์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cananga odorata (Lam.) Hook. f. & Thomson var. odorata
ชื่อภาษาอังกฤษ : KRADANG NGA THAI, Ylang-ylang tree, Ilang-ilang, Cananga tree
ชื่ออื่นๆ : กระดังงาใบใหญ่, กระดังงาใหญ่, สะบันงา, สะบันงาต้น
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้น ทรงพุ่มโปร่ง เรือนยอดรูปไข่ เปลือกต้นสีเทา กิ่งอ่อนมีขนกิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปราะหักง่าย
ใบ : เป็นใบเดี่ยว รูปรีหรือรูปไข่ ปลายแหลม โคนมนหรือเว้าและ เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบอ่อนมีขนทั่วไป ใบแก่มักมีขนตามเส้นกลางใบ
ดอก : ออกเป็นช่อ ดอกมีขนาดใหญ่สีเขียวเมื่อเป็นดอกอ่อนแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อบาน กลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี
ผล : เป็นผลกลุ่ม ผลรูปไข่ ถึงรูปรีหรือค่อนข้างกลม ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเขียวคล้ำจนเกือบดำ ผิวเรียบ ก้านผลยาว
เมล็ด : สีน้ำตาลอ่อน รูปไข่แบน
การขยายพันธุ์ของต้นกระดังงาไทย
ตอนกิ่ง, เพาะเมล็ด
การดูแลต้นกระดังงาไทย
ปลูกได้ในดินร่วน ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแดดจัด ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน เจริญเติบโตเร็ว ผลัดใบน้อย ทนน้ำขังแฉะ ทนแล้ง
สรรพคุณทางสมุนไพรของต้นกระดังงาไทย
- ดอก แก้ลมวิงเวียน ชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย กระหายน้ำ แก้ไข้จากโลหิตเป็นพิษ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ
- ใบ รักษาโรคหืด รักษาดรคผิวหนัง เป็นยาขับปัสสาวะ
- ต้นและกิ่งก้าน เป็นยาขับปัสสาวะ
- เปลือกต้น แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะผิดปกติ รักษาโรคผิวหนัง
- ราก เป็นยาคุมกำเนิด
- เกสร เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร แก้โรคตา
- น้ำมันหอมระเหย ขับลม ฆ่าเชื้อโรค บำรุงประสาท แก้อาการซึมเศร้า แก้หอบหือ ลดความดันโลหิต
ความเชื่อของต้นกระดังงาไทย
เป็นไม้มงคลที่ควรปลูกทางทิศตะวันออก จะเป็นสิริมงคล สร้างชื่อเสียง เงินทองให้กับครอบครัว และควรปลูกวันพุธ เพราะเชื่อว่าต้นกระดังงาไทยจะให้ดอกบานสะพรั่งทั้งต้น
ประโยชน์ของต้นกระดังงาไทย
- ลำต้น เนื้อไม้ใช้ทำก้านไม้ขีด
- ดอก ใช้อบน้ำทำน้ำเชื่อม และปรุงขนมหวาน
- น้ำมันจากดอกที่แก่จัด นำมาปรุงน้ำ อบ น้ำหอม เครื่องสำอาง
- เปลือก นำมาทำเป็นเชือก
- ดอกแห้ง ใช้ผสมกับดอกไม้หอมอื่นๆ ทำบุหงา
- ปลูกเป็นไม้ประดับ