ลักษณะพฤกษศาสตร์ของต้นหม่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ การขยายพันธุ์ การดูแล สรรพคุณทางสมุนไพร ประโยชน์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morus alba L.
ชื่อภาษาอังกฤษ : Mulberry Tree, White Mulberry
ชื่ออื่นๆ : มอน
ลำต้น : เป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นสีน้ำตาลแดง แตกกิ่งก้านน้อย ผิวเรียบ ไม่มีหนาม แต่มียางสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม
ใบ : เป็นใบเดี่ยว รูปไข่หรือรูปไข่กว้าง ปลายแหลมยาว โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบหยักเป็นซี่ แต่ละหยักปลายเรียวแหลม แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเรียบเงา ใต้ใบสีเขียวอ่อน ใบค่อนข้างหนา สากระคายมือ
ดอก : ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกสีขาวหม่นหรือสีขาวแกมเขียว
ผล : เป็นผลรวม รูปทรงกระบอก สีเขียว เมื่อสุกสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ ฉ่ำน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยว
การขยายพันธุ์ของต้นหม่อน
ปักชำ ตอนกิ่ง ติดตา
การดูแลต้นหม่อน
ปลูกได้ในดินทุกชนิด ต้องการน้ำน้อย ชอบแดดจัด ทนแล้ง
สรรพคุณทางสมุนไพรของต้นหม่อน
- เปลือกต้น เป็นยาถ่ายและยาขับพยาธิ
- ผลสุก ทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ บำรุงไต แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการวัณโรคปอด โรคปวดข้อ
- ราก ขับพยาธิ และเป็นยาสมาน แก้โรคความดันโลหิตสูง
- กิ่งอ่อน และใบอ่อน แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ
- ใบ เป็นยาแก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ตาแดง ตาแฉะ ตาฝ้าฟาง
ประโยชน์ของต้นหม่อน
- ผลสุก รับประทานเป็นผลไม้ นำมาแปรรูปเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง
- นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามแนวรั้ว
- ยอดอ่อน นำมาปรุงอาหารเป็นผัก หรือนำมาใส่แกงแทนการใช้ผงชูรส
- ใบ นำมาตากแห้งชงดื่มเป็นชา
- ใบ เป็นอาหารเลี้ยงตัวไหม ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสำหรับสัตว์เองบางชนิด ใช้เลี้ยงปลา
- เนื้อไม้ นำมาใช้ย้อมผ้าไหม ผ้าแพร ได้สีเหลือง
- เปลือกของลำต้นและกิ่ง นำมาผลิตกระดาษ